ประวัติวัดป่าเจริญธรรม


ประวัติและที่มาของวัดป่าเจริญธรรม


วัดป่าเจริญธรรมแรกเริ่มเป็นวัดมหานิกาย ต่อมามีการมอบให้วัดปาลิไลยวันหรือวัดเขาฉลาก โดยคณะสงฆ์วัดเขาฉลากได้ส่งพระสงฆ์ชุดแรกมาประจำที่วัด แต่อยู่ได้ไม่นานก็มีอันต้องกลับไป เพราะในตอนนั้นที่วัดมีความยากลำบากมาก ด้วยเป็นวัดที่ยังไม่มีอะไรเลย ทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่อยู่กันไม่ค่อยได้ หลังจากนั้นวัดก็ร้างไม่มีพระสงฆ์ ชาวบ้านจึงนิมนต์พระสงฆ์จากที่อื่นมา แต่อยู่ได้ไม่นานก็ทิ้งไปอีก ต่อมาทางเจ้าคณะตำบลก็ได้ส่งพระสงฆ์มาอยู่อีกหลายชุด รวมแล้วภายใน 2 ปี มีพระสงฆ์มาอยู่ที่นี่ถึง 8 ชุด

จนในปี พ.ศ. 2548 เจ้าอาวาสชุดที่ 8 ได้นิมนต์พระอาจารย์ชานนท์ให้มาจำพรรษาต่อจากท่าน และตลอดทั้งพรรษานั้นพระอาจารย์ชานนท์ก็อยู่จำพรรษาเพียงลำพังรูปเดียว จนเมื่อปี พ.ศ. 2549 จึงเริ่มมีหมู่คณะเข้ามาจำพรรษาด้วย
เดิมทีนั้นวัดป่าเจริญธรรมมีที่ดินอยู่ 30 ไร่ โดยโยมไจ้ผู้ต่อตั้งที่พักสงฆ์ได้ถวายที่ดินแปลงนี้ให้กับเจ้าอาวาสรูปก่อน พอพระอาจารย์ชานนท์เข้ามาอยู่ โยมสมชายซึ่งมีที่ดินติดกับโยมไจ้เกิดศรัทธาจึงถวายที่ดินเพิ่มอีก 75 ไร่ และต่อมาโยมลำไยซึ่งเป็นน้องสาวของโยมไจ้เกิดศรัทธาจึงซื้อที่ดินถวายอีก 25 ไร่ ทำให้ปัจจุบันวัดป่าเจริญธรรมรวมมีที่ดินประมาณ 130 ไร่ 

 

สภาพความเป็นอยู่ภายในวัดป่าเจริญธรรม

เนื่องจากปฏิปทาของพระสายกรรมฐานจะอยู่กันแบบเรียบง่าย อยู่กันแบบพระป่า พระสงฆ์วัดป่าเจริญธรรมจึงเจริญตามรอยปฏิปทาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานนั่นคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ข้อวัตรปฏิบัติของวัดป่าเจริญธรรมจะเริ่มตั้งแต่ตื่นเช้าเพื่อออกบิณฑบาต ซึ่งเดิมทีพระอาจารย์ชานนท์ท่านประจำอยู่รูปเดียว ท่านก็จะออกบิณฑบาตตามหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่โดยรอบ 7-8 หลังคาเรือน ซึ่งก็เพียงพอที่จะอยู่ได้ แต่ต่อมามีหมู่คณะมาอยู่ด้วย การไปบิณฑบาตแรกๆ อาหารไม่เพียงพอ จึงต้องให้แม่ชีหุงข้าวและทำอาหารเพิ่มทุกๆวัน และภายหลังจึงจำเป็นต้องเอารถเข้าไปบิณฑบาตที่ตัวอำเภอบ่อทอง ซึ่งมีระยะห่างจากวัด 22 กิโลเมตร ญาติโยมในตลาดที่ศรัทธาในพระป่าก็จะใส่บาตรกันเป็นประจำ ซึ่งทางวัดออกบิณฑบาตทุกวันไม่เว้นแม้แต่วันพระ

การฉันอาหารที่วัดป่าเจริญธรรมก็เป็นแบบมื้อเดียว ตามรอยพระศาสดาและพระป่าสายกรรมฐาน โดยเมื่อฉันเสร็จท่านจะสละอาหารให้ญาติโยม ซึ่งผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติธรรมสามารถนำอาหารมาจัดสรรปันส่วนเป็นมื้ออาหารของตนเอง โดยจะแบ่งเป็นมื้ออาหารกี่มื้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพธาตุขันธ์ของผู้มาปฏิบัติว่าใครทำได้แค่ไหน ถ้าถือศีล 5 ก็ว่าไปตามนั้น ศีล 8 ก็ว่าไปตามนั้นเช่นกัน ซึ่งพระสงฆ์จะกลับจากการบิณฑบาตประมาณ7.30 น. จัดสำรับ 8.00 น. และเริ่มฉัน 8.30 น. ช่วงบ่ายผู้ปฏิบัติธรรมและพระสงฆ์จะปัดกวาดลานวัดรวมทั้งที่พักอาศัยส่วนรวมและของตัวเอง และก็จะมาฉันน้ำปานะกันที่โรงต้มน้ำร้อน ส่วนของอุบาสิกาและผู้ปฏิบัติธรรมหญิงจะมีน้ำปานะที่โรงครัว แยกส่วนกัน เวลาที่เหลือก็เร่งภาวนาทำความเพียร การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จึงเรียบง่ายมาก

ถ้าในช่วงเข้าพรรษาก็จะมีการทำวัตรสวดมนต์ที่หอพระร่วมกันทุกวันพระ และทำความเพียรกันตามปกติ แต่นอกพรรษาจะใช้ชีวิตอย่างอิสระ ตามธรรมชาติ ใครอยากจะทำวัตร สวดมนต์ก็สวดอยู่ในกุฏิของตนเองได้ ใครอยากนั่งสมาธิ เดินจงกรมภายในบริเวณวัดที่ไหนก็ได้ ขึ้นไปทำความเพียรบนภูเขาก็ได้ ไม่มีการบังคับ จุดประสงค์คือ เน้นการทำความเพียรเป็นหลัก อยู่กับกายใจของตนเองให้มากนั่นเอง เรื่องกิจการงานก่อสร้างต่างๆ พระอาจารย์ชานนท์จะไม่ให้พระลูกวัดไปยุ่งเด็ดขาด ให้เน้นทำความเพียร เร่งภาวนาเป็นหลัก กิจกรรมต่างๆ ของวัดก็จะน้อย

 

สภาพภูมิอากาศภายในวัดป่าเจริญธรรม


หน้าร้อน
       

เนื่องจากตัววัดอยู่ในภูเขา  เป็นเนินเขาที่ราบสูง  ป่าไม้ปกคลุมพอสมควร หน้าร้อนก็จะร้อนไม่มาก เพราะได้รับความชื้นจากสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าโปร่ง  อากาศจึงเย็นสบาย

หน้าหนาว      

หน้าหนาวก็ไม่หนาวจัดจนเกินไป   ป่าไม้ปกคลุมอยู่พอสมควรแต่ไม่ถึงกับรกครึ้ม

หน้าฝน

ส่วนหน้าฝนนั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องของน้ำขังบ้าง  แต่ไม่ถึงกับท่วม เพราะเป็นเนินเขาน้ำพัดพาลงสู่บริเวณที่ต่ำทั้งหมด 


น้ำประปากับไฟฟ้า ภายในวัดป่าเจริญธรรม

แรกเริ่มที่วัดจะมีการขุดบ่อปูนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ เวลาหน้าแล้งน้ำจะไม่พอใช้ และน้ำจะออกสีแดง เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2552 จึงได้ทำการขุดสระน้ำเล็กๆ ขึ้นมาสระหนึ่งซึ่งจะมีน้ำซึมอยู่ตลอดเวลาจึงพอที่จะอยู่ได้อย่างสะดวก และต่อมาทาง อบต. ได้มีงบจัดการขุดสระน้ำให้อีกสระหนึ่งซึ่งใหญ่พอสมควร เพิ่มขึ้นเป็น 2 สระ ทำให้ที่วัดหมดปัญหาเรื่องน้ำไปพอสมควร

เรื่องไฟฟ้าเมื่อก่อนนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่ค่อยพอใช้เนื่องจากเพิ่งจะพัฒนาเป็นวัดได้ไม่กี่ปี จึงมีปัญหาเรื่องไฟตกบ่อยๆ แต่หลังจากทอดกฐินปี พ.ศ. 2553 ทางวัดก็ได้ปัจจัยมาเพื่อขอนำไฟฟ้าเข้ามาใช้ที่วัดแล้ว จึงทำให้หมดปัญหาเรื่องไฟฟ้าไปพอสมควรเช่นกัน

 

สัตว์ต่างๆ ภายในวัดป่าเจริญธรรม

สัตว์ป่าบริเวณวัดไม่มีสัตว์ที่มีอันตราย เนื่องจากไม่ใช่ป่าที่รกครึ้ม บนเขาก็สามารถเดินขึ้นได้โดยไม่มีอันตราย สัตว์ป่ามีเพียงบางประเภท เช่น เม่น หมูป่า และก็สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กระรอก กระแต และนกนานาชนิด ซึ่งไม่ทำอันตรายกับผู้ที่ไปปฏิบัติภาวนา

 

หมู่อาคารในวัดป่าเจริญธรรมและการวางแผนพัฒนาในอนาคต

พระอาจารย์ชานนท์มีความตั้งใจให้วัดป่าเจริญธรรมเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติธรรมทั้งด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวบ้านที่อยู่ในอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ตลอดจนผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งอุบาสก อุบาสิกา แม่ชี และพระสงฆ์ที่มีความสนใจอยากจะเข้ามาปฏิบัติธรรม ซึ่งสถานที่มีความพร้อมเหมาะแก่การเจริญภาวนาด้วยมีสงบ เป็นที่สัปปายะ

สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางมาปฏิบัติธรรมสามารถมาเดี่ยวหรือเป็นหมู่คณะก็ได้ ทางวัดสามารถรองรับผู้ปฏิบัติได้ราว 15-20 คน โดยจะอยู่กี่วันก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่กี่วันก็เข้าใจและมีแนวทางไปปฏิบัติต่อที่บ้าน

ส่วนเรื่องการขยายวัดและอาคารต่างๆ ก็สร้างให้พอเหมาะพอดีกับเหตุและปัจจัย แต่ตัวพระอาจารย์เองก็มิได้บอกบุญใคร ซึ่งตอนนี้ก็มีญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างกุฏิให้หลายหลัง เพื่อให้ผู้สนใจทั้งนักบวชและฆราวาสได้เข้ามาใช้ทำความเพียรภาวนา
 
หมู่อาคารในวัดป่าเจริญธรรมหลักๆ ที่มีในตอนนี้คือ

๑. ศาลาปฏิบัติธรรม (หอพระ)
๒. โรงครัว โรงอาหาร
๓. เรือนรับรองพระ และพระอาคันตุกะ
๔. เรือนต้มแก่นขนุนสำหรับผ้าบังสุกุลจีวร
๕. หมู่กุฏิสงฆ์ เขตสงฆ์
๖. หมู่กุฏิอุบาสก เขตผู้ชาย
๗. หมู่กุฏิอุบาสิกา เขตชี และเขตผู้หญิง 
๘. พระอุโบสถแปดเหลี่ยม


 

สถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงวัดป่าเจริญธรรมเมื่อเจ็บป่วย

     1. โรงพยาบาลอำเภอบ่อทอง เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ อยู่ห่างจากวัด 22 กิโลเมตร

     2.  สถานีอนามัยธรรมรัตน์  บ้านอ่างกระพงศ์ อยู่ห่างจากวัดประมาณ 3-4 กิโลเมตร

     




ที่อยู่ติดต่อวัดป่าเจริญธรรม

ที่ตั้ง : วัดป่าเจริญธรรม เลขที่ 111 หมู่ 7 บ้านไม้หอม ต.เกษตรสุวรรณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี 20270
อีเมล : prachanon.info@gmail.com

รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูได้จากส่วน ติดต่อวัด


 

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2